อาการของนิ่ว
- ช่วงแรกคนไข้จะมีอาการปวดท้อง อาจปวดเป็นพักๆ หรือบางทีก็ปวดต่อเนื่อง อาการปวดจะมากขึ้นและรู้สึกร้าวไปถึงด้านหลัง
- อาจมีอาการร่วมคือคลื่นไส้ อาเจียน เหงื่อออกมาก ใจสั่น คือมีอาการแบบเดียวกันกับคนที่เป็นนิ่วในถุงน้ำดี
- ถ้าก้อนนิ่วได้ตกไปสู่ท่อน้ำดีแล้วก็จะทำให้ท่อน้ำดีส่วนปลายเกิดการอุดตัน ทำให้คนไข้เกิดอาการตาเหลืองตัวเหลือง มีไข้ และมีปัสสาวะสีเข้มร่วมด้วย เสี่ยงกับการติดเชื้อแบคทีเรียรุนแรงในท่อน้ำดี ซึ่งจะส่งผลเสียถึงขั้นเสียชีวิตได้
การส่องกล้องตรวจท่อทางเดินน้ำดีและท่อตับอ่อน หรือ ERCP (Endoscopic Retrograde Cholangiopancreatography)
- มีข้อบ่งชี้หลักๆ คือ รักษาภาวะท่อน้ำดีอุดตันหรือภาวะดีซ่าน เช่น นิ่วในท่อน้ำดี หรือก้อนในท่อน้ำดี หรือรอบๆ ท่อน้ำดีอุดตัน เป็นการใช้กล้องส่องเข้าทางปาก ผ่านหลอดอาหาร กระเพาะอาหาร และลำไส้เล็กส่วนต้นจนถึงท่อเปิดของน้ำดีในลำไส้เล็ก มีการฉีดสารทึบแสง เพื่อดูพยาธิสภาพของท่อน้ำดี ในกรณีที่พบนิ่วในท่อน้ำดี สามารถขบให้นิ่วแตก หรือส่องกล้องคล้องออกหากพบท่อน้ำดีหุบแฟบ แพทย์จะทำการรักษาโดยใช้บอลลูนหรือตะกร้อลวดขนาดเล็กเกี่ยวเอานิ่วออกจากท่อน้ำดี แต่หากพบก้อนกดเบียดท่อน้ำดี รักษาโดยการตัดชิ้นเนื้อบริเวณก้อนเพื่อส่งตรวจ และใส่ท่อระบายน้ำดีเพื่อทางเดินน้ำดีไม่ถูกอุดกั้น ลดอาการตัวเหลืองตาเหลือง
- ภาวะแทรกซ้อนที่อาจพบได้จากการส่องกล้องท่อน้ำดี คือ ภาวะตับอ่อนอักเสบภายหลังการส่องกล่อง เนื่องจากท่อตับอ่อนอยู่แนบชิดกับรูเปิดของท่อน้ำดีอาจจะเกิดการระคายเคือง ซึ่งภาวะนี้อาจเกิดขึ้นได้ประมาณ 3-5% แต่โดยส่วนใหญ่มักเป็นตับอ่อนอักเสบแบบไม่รุนแรง และอาการมักจะดีขึ้นภายใน 1-2 วัน ด้วยการงดน้ำและอาหาร ให้น้ำเกลือ ให้ยาแก้ปวด ฉะนั้น ภายหลังส่องกล้อง ERCP แพทย์จะแนะนำให้ผู้ป่วยนอนพักที่โรงพยาบาลเพื่อสังเกตอาการหลังทำหัตถการอย่างน้อย 1 คืน
การรักษาผู้ป่วยที่มีอาการนิ่วในถุงน้ำดีและมีนิ่วในท่อน้ำดีร่วมกัน
- ในรายที่มีความซับซ้อนของโรค อาทิ เป็นโรคตับอ่อนอักเสบเฉียบพลัน (acute pancreatitis) มีภาวะเหลือง (obstructive jaundice) หรือโรคท่อน้ำดีอักเสบเฉียบพลัน (acute cholangitis) และตรวจพบมีนิ่วในถุงน้ำดีร่วมด้วย แพทย์อาจแนะนำให้รักษาด้วยการส่องกล้องตรวจท่อทางเดินน้ำดีและท่อตับอ่อน (ERCP) ร่วมกับการผ่าตัดถุงน้ำดีผ่านกล้องแบบแผลเล็ก (laparoscopic cholecystectomy) พร้อมกันในการรักษาครั้งเดียว โดยการผ่าตัดถุงน้ำดีผ่านกล้องเป็นการใช้เทคโนโลยีผ่าตัดแบบแผลเล็ก Advanced MIS (Minimal Invasive Surgery) โดยแพทย์สามารถเห็นภาพถุงน้ำดี ท่อน้ำดีและอวัยวะต่างๆ ชัดเจนยิ่งขึ้น ส่งผลให้การผ่าตัดมีความแม่นยำ หลังผ่าตัดแผลมีขนาดเล็ก เจ็บน้อย ลดโอกาสการติดเชื้อ และช่วยให้ผู้ป่วยฟื้นตัวไวหลังผ่าตัด
- การรักษาผู้ป่วยที่มีอาการนิ่วในถุงน้ำดีและมีนิ่วในท่อน้ำดีร่วมกันในครั้งเดียว ช่วยให้คนไข้ไม่ต้องผ่านกระบวนการวางยาสลบหลายครั้ง นับเป็นการรักษาที่ปลอดภัยและมีโอกาสในการรักษานิ่วที่ถุงน้ำดีและนิ่วในท่อน้ำดีสำเร็จยิ่งขึ้น ลดระยะเวลานอนในโรงพยาบาลสั้ และช่วยให้การฟื้นตัวเร็วขึ้น ผู้ป่วยอาจลุกเดินได้ใน 4-6 ชั่วโมงหลังผ่าตัด รวมทั้ง อัตราการเกิดโรคตับอ่อนอักเสบและภาวะแทรกซ้อนอื่นๆ ลดลงหลังการรักษาเมื่อเปรียบเทียบกับการรักษาแบบเว้นระยะ (การรักษาด้วย ERCP ก่อนและผ่าตัด LC ในภายหลัง)
ข้อควรระวัง
- ห้ามทำ ERCP ในผู้ป่วยที่มีการติดเชื้อ มีการตีบหรืออุดตันของหลอดอาหารหรือลำไส้เล็กส่วนต้น และมีการอักเสบของตับอ่อน ท่อทางเดินน้ำดี หรือผู้ที่เป็น โรคหัวใจและปอด
- ห้ามทำในผู้ป่วยที่ได้รับยาต้านการแข็งตัวของเลือด เพราะจะเพิ่มความเสี่ยงต่อการมีเลือดออก
แผนกศัลยกรรม 02-457-0086 ต่อ 4020 , 4000