มะเร็งปากมดลูกและการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก
ข้อมูลจากสถาบันโรคมะเร็งแห่งชาติระบุว่า โรคมะเร็งปากมดลูก (Cervical cancer) เป็นโรคมะเร็งที่มักพบเป็นอันดับ 2 ของหญิงไทย รองจากมะเร็งเต้า ดังนั้นการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก จึงเป็นแนวทางที่ดีที่สุดที่จะทำให้รู้ว่าเป็นโรคนี้ตั้งแต่เนิ่นๆเพื่อทำการรักษาอย่างทันท่วงที
วิธีตรวจคัดกรองที่รู้จักกันดี เช่น การตรวจแปปสเมียร์ (Pap smear test) ซึ่งเป็นการตรวจดูเซลล์ผิดปกติที่อาจเปลี่ยนเป็นเซลล์ของมะเร็งต่อไปได้ อย่างไรก็ตาม การตรวจแปปสเมียร์นั้นสามารถให้ผลลบลวงได้ เนื่องจากบางครั้งตัวอย่างสิ่งส่งไปตรวจอาจซ้อนทับกัน มีเลือด หรือมูกปนเปื้อน ทำให้เมื่อส่องดูด้วยกล้องจุลทรรศน์แล้วมองไม่เห็นความเปลี่ยนแปลง
ปัจจุบันมีวิธีตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกโดยเก็บตัวอย่างเซลล์ด้วยของเหลว (Liquid-based cytology: LBC) หรือที่รู้จักกันในชื่อ ตินแพร็พ แป๊บ เทสต์ (Thin Prep Pap Test หรือ Cy-Prep) เรียกตามแบรนด์น้ำยาที่ใช้ตรวจ แนวทางแบบนี้สามารถเก็บตัวอย่างเซลล์ได้มากขึ้น ชัดขึ้น ทำให้สามารถค้นหาเซลล์มะเร็งระยะเริ่มต้นเริ่มได้ดีกว่าการตรวจแปปสเมียร์ สตรีที่มีอายุ 35 ปีขึ้นไป ควรตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก/ตรวจภายใน ทุก 1-3 ปี
อาการผิดปกติที่ควรพบแพทย์
- เลือดออกทางช่องคลอด ทั้งเพียงเล็กน้อยหลังมีเพศสัมพันธ์ หรือการมีเลือดออกกะปริบกะปรอยระหว่างรอบเดือน
- ประจำเดือนมามาก หรือนานกว่าปกติ
- เบื่ออาหาร ,น้ำหนักลด
- มีของเหลวออกทางช่องคลอด หรือตกขาว ทั้งที่เป็นน้ำและข้น เป็นมูก เป็นหนอง มีเลือดปน มีเศษเนื้อปน แม้มีกลิ่นหรือไม่มีกลิ่นก็ตาม
- ถ่ายอุจจาระ ปัสสาวะเป็นเลือด (พบในกรณีมีการลุกลามไปกระเพาะปัสสาวะและลำไส้ใหญ่ส่วนปลาย)
- ในรายที่โรคมีขนาดใหญ่ อาจทำให้เกิดการปวดถ่วงบริเวณท้องน้อย ปัสสาวะขัดหรือถ่ายอุจจาระลำบาก หรือกดเบียดท่อไตทำให้ไตทำงานผิดปกติ จนอาจถึงไตวายได้
- ขาบวม ซึ่งหมายถึงมะเร็งปากมดลูกได้ลุกลามไปที่ต่อมน้ำเหลืองแล้ว
กลุ่มที่มีความเสี่ยงมะเร็งปากมดลูก
- ผู้หญิงที่มีเพศสัมพันธ์ตั้งแต่อายุน้อยกว่า 17 ปี
- ผู้หญิงที่มีคู่นอนหลายคน หรือแฟนมีคู่นอนหลายคน
- การตั้งครรภ์และคลอดบุตรมากกว่า 3 คนขึ้นไป
- เป็นโรคที่ทำให้มีภาวะภูมิคุ้มกันต่ำ เช่นโรคเอดส์ หรือได้รับยากดภูมิคุ้มกันเป็นเวลานาน
- มีประวัติเป็นโรคติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์มาก่อน เช่น ซิฟิลิส เริม หนองใน ฯลฯ
- ไม่เคยรับการตรวจมะเร็งปากมดลูกมาก่อน
- รับประทานยาคุมกำเนิดนานกว่า 10 ปี
- สูบบุหรี่
วิธีป้องกัน มะเร็งปากมดลูก
- หลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยง เช่น การมีเพศสัมพันธ์ตั้งแต่อายุยังน้อย การเปลี่ยนคู่นอนหลายคน การสูบบุหรี่
- ฉีดวัคซีนป้องกันการติดเชื้อไวรัสเอชพีวี (เพื่อให้ได้ประสิทธิภาพควรฉีดในช่วงอายุก่อนการมีเพศสัมพันธ์ เพื่อป้องกันการติดเชื้อ)
- ควรตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก เป็นประจำอย่างสม่ำเสมอ
การเตรียมตัวการตรวจภายใน
- ก่อนตรวจควรทำความสะอาดภายนอกโดยใช้สบู่ธรรมดา
- ควรสวมกระโปรงหรือกางเกงที่สามารถถอดได้ง่าย
- ไม่ควรเล่นกีฬาก่อนมาตรวจภายใน
- งดมีเพศสัมพันธ์ก่อนการตรวจ
- ไม่ควรสวน หรือล้างภายในช่องคลอด
- ไม่ควรเหน็บยา
- ไม่ควรตรวจภายในช่วงที่มีประจำเดือน
ทำอย่างไรเมื่อผลตรวจผิดปกติ ?
เพื่อยืนยันการวินิจฉัยที่ถูกต้องและแม่นยำ แพทย์จะมีวิธีการตรวจขั้นตอนต่อไป ด้วยการใช้กล้องส่องตรวจปากมดลูกโดยเฉพาะที่เรียกว่า Colposcopy
การตรวจ Colposcopy คือ ?
การตรวจเนื้อเยื่อบุผิวของปากมดลูก ช่องคลอด ปากช่องคลอด และทวารหนัก ด้วยกล้องขยายส่องสว่างหลังจากทาหรือชโลมด้วยน้ำยาเฉพาะ เพื่อตรวจหาความผิดปกติที่เกี่ยวข้องกับมะเร็ง หรือเพื่อตรวจยืนยันความปกติของเนื้อเยื่อบุผิว หัตถการที่อาจจะทำร่วมกับการตรวจ คือ การตัดเนื้อเยื่อเป้าหมายออกตรวจ จากบริเวณที่ตรวจพบว่ามีความผิดปกติรุนแรง
ข้อบ่งชี้ของการตรวจด้วย Colposcopy ได้แก่
- ผลการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก ด้วย Pap smear/Thin prep ผิดปกติ เป็นข้อบ่งชี้ให้ทำการตรวจมากที่สุด
- ปากมดลูกมีลักษณะผิดปกติเช่น มีแผล หรือก้อนเนื้อ จากการตรวจด้วยตาเปล่า
- เลือดออกผิดปกติระหว่างรอบเดือน ที่ไม่สามารถอธิบายสาเหตุได้ หรือเลือดออกหลังจากมีเพศสัมพันธ์ และตกขาวเนิ่นนานที่ไม่สามารถอธิบายสาเหตุได้ อาจตรวจด้วย Colposcopy เพื่อวินิจฉัยแยกโรคมะเร็ง
- รอยโรคบริเวณช่องคลอด และปากช่องคลอดจากการตรวจด้วยตาเปล่า
การตรวจและการดูแลภายหลังตรวจ
1. ผู้ตรวจใส่ถุงมือ จัดให้ผู้ป่วยอยู่ในท่านอนหงายพาดเท้าบนขาหยั่ง (Lithotomy position) ผู้ตรวจใช้เครื่องมือที่มีลักษณะคล้ายปากเป็ด (Speculum) ถ่างช่องคลอด และหากมีข้อบ่งชี้ให้ทำ Pap test บอกผู้ป่วยให้หายใจทางปาก เพื่อช่วยให้ผ่อนคลายระหว่างใส่กล้อง โดยดูจากการคลายตัวของกล้ามเนื้อหน้าท้อง
2. ใช้ไม้ป้ายน้ำยา ป้ายบริเวณปากมดลูกเพื่อเอาเยื่อเมือกออกมาตรวจ
3. หลังจากตรวจดูปากมดลูก และช่องคลอดแล้วตัดชิ้นเนื้อบริเวณที่ผิดปกติออกตรวจ
4. หยุดเลือดโดยกดด้วยสำลี น้ำยาห้ามเลือด หรือโดยการจี้
5. หลังจากตัดชิ้นเนื้อ แนะนำผู้ป่วยให้หยุดร่วมเพศ และหลีกเลี่ยงการสอดใส่สิ่งอื่นใดเข้าทางช่องคลอด (รวมทั้งผ้าอนามัยแบบสอด) จนกระทั่งแผลที่ตัดชิ้นเนื้อหายดี (ใช้เวลาประมาณ 10 วัน)
แพ็กเกจตรวจมะเร็งปากมดลูก (คลิก!!)
แพ็กเกจวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูก (คลิก!!)
ติดต่อสอบถามแผนกสูตินรีเวช โทร 02-4570086 ต่อ2031 หรือ 6607