Bangphai Hospital

โรคติดเชื้อไอพีดี (IPD)

รู้จักโรค IPD

โรคติดเชื้อไอพีดี (IPD) หรือ Invasive Pneumococcal Disease เป็นโรคที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียนิวโมคอคคัส (Streptococcus pneumoniae) ในโพรงจมูกและคอ โดยสามารถแพร่เชื้อและติดต่อกันได้เหมือนไข้หวัดทั่วไป เช่น ติดต่อโดยผ่านการไอ จาม หรือสัมผัสสารคัดหลั่งของผู้ที่มีเชื้อโรค

โดยทั่วไปโรคติดเชื้อไอพีดี ถ้าเกิดกับผู้ใหญ่ที่มีร่างกายแข็งแรงก็จะมีอาการเหมือนไข้หวัดที่ไม่รุนแรง แต่หากเกิดขึ้นในเด็กเล็กที่อายุน้อยกว่าสองขวบ ก็จะก่อให้เกิดการติดเชื้อชนิดรุนแรง ประกอบด้วยโรคสำคัญ 2 โรค ได้แก่ โรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ และ โรคติดเชื้อในกระแสเลือด บางครั้งอาจรวมถึงโรคปอดบวม ที่มีการติดเชื้อในกระแสเลือดร่วมด้วย นอกจากนี้ เชื้อนิวโมคอคคัส ยังเป็นสาเหตุสำคัญของโรคหูชั้นกลางอักเสบ และ โรคไซนัสอักเสบอีกด้วย

 ทั้งนี้ อาการและความรุนแรงของโรคติดเชื้อไอพีดีก็จะขึ้นอยู่กับอวัยวะที่มีการติดเชื้อ ซึ่งแบ่งออกเป็นการติดเชื้อในระบบต่างๆ ของร่างกาย ดังต่อไปนี้
• การติดเชื้อในระบบประสาท เด็กจะมีอาการไข้สูง ปวดศีรษะรุนแรง คลื่นไส้ อาเจียน คอแข็ง หากเกิดกับเด็กทารกจะวินิจฉัยได้ยาก อาจมีอาการงอแง ซึม ไม่กินนม และชัก หากรักษาไม่ทันท่วงทีอาจทำให้เยื่อหุ้มสมองอักเสบ พิการ หรือเสียชีวิตได้
• การติดเชื้อในกระแสเลือด เด็กจะมีไข้สูง ร้องกวน งอแง อาจเกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น อาการช็อก และเสียชีวิตได้

นอกจากนั้น การติดเชื้อในกระแสเลือดยังทำให้เชื้อกระจายไปสู่อวัยวะอื่นๆ เช่น เยื่อหุ้มสมอง ปอด กระดูกและข้อต่อไปได้
• การติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนบน เด็กจะมีอาการไข้สูง บ่นปวดหู งอแง ถ้าไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง การติดเชื้ออาจลุกลามไปที่อวัยวะข้างเคียงหรือสมองได้ และสามารถเกิดหูน้ำหนวกเรื้อรัง แก้วหูทะลุ การได้ยินบกพร่อง ซึ่งมีผลต่อพัฒนาการด้านภาษาของเด็กอีกด้วย
• การติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนล่าง เด็กจะมีอาการไข้ ไอ หายใจเร็ว หอบ ปอดอักเสบ และอาจรุนแรงถึงขั้นต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ และเสียชีวิตได้

เด็กที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อนี้ได้แก่

  • เด็กที่มีอายุน้อยกว่า 2 ปี
  • เด็กที่เป็นโรคหัวใจ โรคปอด โรคตับเรื้อรัง
  • เด็กที่ไม่มีม้ามหรือม้ามทำงานไม่ดี
  • เด็กที่อยู่สถานเลี้ยงเด็กกลางวัน
  • เด็กที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง
  • เด็กที่มีน้ำไขสันหลังรั่ว

 โรคติดเชื้อไอพีดี IPD รักษาได้อย่างไร

       การติดเชื้อนิวโมคอคคัส สามารถรักษาได้ด้วยการใช้ยาปฏิชีวนะ ถ้าเป็นการติดเชื้อที่ไม่รุนแรง เช่น คออักเสบ หูน้ำหนวก หรือไซนัสอักเสบสามารถให้ในรูปแบบยารับประทานได้ แต่ถ้าเป็นการติดเชื้อแบบลุกลาม (IPD) ผู้ป่วยต้องได้รับการรักษาในโรงพยาบาลแบบผู้ป่วยใน และให้ยาปฏิชีวนะทางเส้นเลือดพร้อมกับการรักษาตามอาการที่เกิดขึ้น เช่น เรื่องการหายใจ ยากันชัก เป็นต้น

        การติดเชื้อแบบรุนแรง จำเป็นต้องได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที เช่น การติดเชื้อที่เยื่อหุ้มสมอง อาจทำให้เด็กชัก เกิดความพิการของสมองปัญญาอ่อนได้ ถึงแม้ว่าโรค IPD จะรักษาได้ด้วยยาปฏิชีวนะ แต่ปัจจุบันพบว่า เชื้อนิวโมคอคคัส บางสายพันธุ์มีการดื้อยา (การดื้อยา หมายถึง เชื้อโรคมีการปรับตัวเอง ทำให้ยาปฏิชีวนะที่เคยใช้ได้ผลกลับไม่ได้ผลต้องใช้ยาปฏิชีวนะขั้นสูงขึ้น) ทำให้การรักษาลำบากมากขึ้นและหากไม่ได้รับการรักษาทันท่วงที อาจทำให้เกิดความพิการ และเสียชีวิตได้

  ข้อปฏิบัติเบื้องต้นในการป้องกันโรคติดเชื้อ ไอ พี ดี ในเด็ก

1.)  สอนให้เด็กมีสุขภาพอนามัยที่ดี ล้างมือบ่อยๆ และปิดปาก ปิดจมูกทุกครั้งที่จาม หรือไอ

2.)  สอนในเด็กหลีกเลี่ยงการสัมผัส กับคนที่เป็นไข้หวัดหรือป่วย

3.)  ให้ลูกกินนมแม่เพื่อให้มีภูมิต้านทานจากแม่ไปสู่ลูกทางอ้อม

4.)  หลีกเลี่ยงการนำเด็กเข้าไปในที่ชุมชนหรือสถานที่มีคนแออัดโดยไม่จำเป็น เพราะเด็กสามารถรับเชื้อที่แพร่กระจายจากการไอ จาม และละอองเสมหะในอากาศได้ง่าย

5.)  การฉีดวัคซีนเป็นการป้องกันได้ดีที่สุดวิธีหนึ่ง โดยสามารถเริ่มฉีดได้ตั้งแต่ 2 เดือนขึ้นไป และฉีดเข็มต่อไปเมื่ออายุ 4 เดือน 6 เดือน และฉีดกระตุ้นอีก 1 ครั้ง เมื่ออายุ 12-15 เดือน

พญ. ปิยะดา ศรีสุวรรณ กุมารแพทย์

แพ็กแกจวัคซีนไอพีดี (IPD) คลิก !!!

ติดต่อสอบถาม นัดหมายพบแพทย์

โทร : 02-457-9740 ต่อ 4025 ,4013