Bangphai Hospital

โรคต้อกระจก

ต้อกระจก (Cataract)

เป็นภาวะที่แก้วตา (Lens) ภายในลูกตาเสื่อมลงจนมีลักษณะขุ่นขาวจากปกติที่มีลักษณะโปร่งใสเหมือนกระจก เมื่อแก้วตาขุ่นขาวก็จะมีลักษณะทึบแสง ทำให้บดบังแสงที่จะผ่านเข้าไปในตา แสงจึงส่งผ่านเข้าสู่ลูกตาไปรวมตัวที่จอประสาทตาหรือเรตินาได้ไม่เต็มที่ ทำให้เกิดอาการสายตาฝ้าฟางหรือสายตามัวคล้ายหมอกบัง ส่วนใหญ่เกิดจากการเสื่อมตามอายุ โดยเลนส์แก้วตาเริ่มขุ่นเมื่อายุ 40 ปีขึ้นไป

แก้วตา หรือ เลนส์ตา (Lens)

เป็นเลนส์นูนใสที่อยู่หลังม่านตา มีลักษณะเหมือนเลนส์นูนทั่วไปทั้งด้านหน้าและด้านหลัง ซึ่งด้านหน้าจะแบนกว่าด้านหลัง มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 9 มิลลิเมตร และมีความหนาประมาณ 5 มิลลิเมตร มีหน้าที่ร่วมกับกระจกตาในการหักเหแสงจากวัตถุให้ตกโฟกัสที่จอประสาทตา (Retina) จึงทำให้เกิดการมองเห็น อีกทั้งแก้วตายังสามารถเปลี่ยนกำลังการหักเหได้ด้วยตัวเองเพื่อให้สามารถโฟกัสภาพในระยะต่าง ๆ ได้ชัดขึ้น ทำให้มองเห็นได้ชัดทั้งในระยะไกลและระยะใกล้ ด้วยความสำคัญนี้เอง ธรรมชาติจึงสร้างแก้วตาให้มาอยู่ในที่ที่ปลอดภัย โดยอยู่ตรงใจกลางของดวงตาเพื่อไม่ให้ได้รับอันตรายได้โดยง่าย

ปัจจัยอื่นๆ ที่อาจมีผลทำให้เกิดต้อกระจกได้เร็วขึ้น

1. การใช้ยากลุ่มสเตียรอยด์

2 โรคประจำตัว เช่น เบาหวาน

3. การเกิดอุบัติเหตุที่ดวงตา หรือ โรคตาบางชนิด

4. สภาวะแวดล้อม และการดำเนินชีวิตที่ทำให้ดวงตาได้รับแสงอัลตราไวโอเลตเป็นเวลานานโดยไม่ใส่อุปกรณ์ป้องกัน

5. ความผิดปกติแต่กำเนิด เช่น ทารกที่เกิดจากมารดาที่ติดเชื้อหัดเยอรมันระหว่างตั้งครรภ์

อาการของต้อกระจก

– ผู้ป่วยจะรู้สึกว่าตาค่อยๆ มัวลงเรื่อยๆ ทีละน้อย โดยในระยะเริ่มแรกจะรู้สึกมีอาการตามัวเหมือนมีหมอกบัง มองในที่มืดชัดกว่าที่สว่าง หรือถูกแสงสว่างจะรู้สึกตาพร่ามัว สู้แสงไม่ได้ หรือเห็นภาพซ้อน โดยไม่มีอาการเจ็บปวดหรือตาแดงแต่อย่างใด อาการตามัวจะเป็นมากขึ้นเรื่อยๆ กินเวลาเป็นแรมเดือนแรมปี จนในที่สุดเมื่อแก้วตาขุ่นขาวจนหมด (เรียกว่า ต้อสุก) ก็จะมองไม่เห็น สำหรับต้อกระจกในผู้สูงอายุ มักจะเป็นที่ตาทั้ง 2 ข้าง แต่จะสุกไม่พร้อมกัน สำหรับต้อกระจกในผู้สูงอายุในระยะแรก แก้วตามักจะขุ่นขาวเฉพาะบริเวณตรงกลาง เมื่อมองในที่มืดรูม่านตาจะขยาย เปิดทางให้แสงผ่านเข้าแก้วตาส่วนรอบนอกที่ยังใสเป็นปกติ จึงทำให้เห็นภาพได้ชัด แต่เมื่อมองในที่สว่างรูม่านตาจะหดเล็กลง แสงสว่างจะผ่านเฉพาะแก้วตาส่วนตรงกลางที่ขุ่นขาวทำให้พร่ามัว

– ผู้ป่วยบางรายอาจสังเกตว่าการมองเห็นของตนนั้นผิดไปจากเดิม เช่น มองเห็นจุดอยู่หน้าตา มองเห็นแสงไฟเป็นแสงกระจาย อาจมองเห็นภาพเป็นสีเหลือง มองเห็นแสงไฟเป็น 2 ดวงซ้อนกัน หรือมองเห็นพระจันทร์สองดวงหรือหลายดวง แม้ดูด้วยตาข้างเดียวยังเห็นเป็นภาพซ้อนกัน ทั้งนี้เป็นเพราะแก้วตาที่ขุ่นมัวจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงการหักเหของแสงไม่เท่ากัน การหักเหของแสงไปที่ประสาทตาจึงไม่รวมเป็นจุดเดียว

– ผู้ป่วยอาจเปลี่ยนแว่นบ่อย เพราะการมองเห็นในระยะใกล้ดีขึ้นหรือไม่ต้องใส่แว่นสายตาเพื่ออ่านหนังสือ ซึ่งในผู้สูงอายุที่อ่านหนังสือต้องใช้แว่นสายตาช่วยเป็นปกติอยู่แล้ว แต่อยู่ๆกลับพบว่าสามารถอ่านหนังสือได้โดยไม่ต้องใส่แว่น หากเกิดอาการแบบนี้อย่าเพิ่งดีใจไปและคิดว่าสายตาดีขึ้นเองนะครับ เพราะนั่นเป็นอาการเริ่มต้นของการเสื่อมของแก้วตา (โรคต้อกระจกในระยะแรก)

การรักษาโรคต้อกระจกด้วยการผ่าตัด

  จักษุแพทย์จะทำการรักษาโรคต้อกระจกด้วยการผ่าตัดนำเลนส์แก้วตาที่ขุ่นออก แล้วใส่เลนส์แก้วตาเทียมเข้าไปแทนที่ วิธีการผ่าตัดต้อกระจกที่นิยม ได้แก่

1. การผ่าตัดสลายต้อกระจกโดยใช้คลื่นอัลตราซาวนด์ (Phacoemulsification) โดยการหยอดยาชาหรือฉีดยาชา แล้วนำเครื่องมือที่มีขนาดเท่ากับปลายปากกาสอดผ่านแผลขนาดประมาณ 3 มิลลิเมตรบริเวณขอบตาดำ เพื่อเข้าไปสลายเลนส์แก้วตาที่ขุ่นแล้วดูดออกมา หลังจากนั้นจะใส่เลนส์แก้วตาเทียมเข้าไป ซึ่งแผลผ่าตัดจะมีขนาดเล็กทำให้ไม่ต้องเย็บแผล

2. การผ่าตัดโดยเอาเลนส์ออกแบบเหลือถุงหุ้มเลนส์ไว้ (Extra capsular cataract extraction) กรณีที่ต้อกระจกเป็นมากทำให้ไม่สามารถผ่าตัดลอกต้อกระจกด้วยวิธีสลายต้อได้ จักษุแพทย์จำเป็นต้องผ่าตัดนำเลนส์ออกโดยเหลือถุงหุ้มเลนส์ไว้ใส่เลนส์แก้วตาเทียม ซึ่งแผลผ่าตัดจะมีขนาดใหญ่กว่าวิธีแรกและต้องมีการเย็บแผล

ข้อควรรู้ก่อนรับการผ่าตัดต้อกระจก

การให้ยาระงับความรู้สึก มีหลายวิธี ได้แก่

การใช้ยาชาหยอด นิยมใช้กับการผ่าตัดสลายต้อกระจกเท่านั้น

การใช้ยาชาฉีด ใช้กับการผ่าตัดเอาเลนส์ออก รวมถึงการผ่าตัดสลายต้อกระจกในบางราย

การดมยาสลบ ใช้ในกรณีที่จักษุแพทย์พิจารณาแล้วว่าผู้ป่วยไม่สามารถผ่าตัดได้โดยการใช้ยาชาในรูปแบบหยอดหรือฉีดได้

เลนส์แก้วตาเทียม

  หลังผ่าตัดนำเลนส์ที่เป็นต้อกระจกออกแล้ว จักษุแพทย์จะใส่เลนส์แก้วตาเทียมเข้าไปแทนที่ ปัจจุบันมีเลนส์แก้วตาเทียมหลายประเภท การเลือกประเภทของเลนส์ที่จะใส่นั้นขึ้นอยู่กับการใช้สายตาในชีวิตประจำวัน และความเหมาะสมของตาในผู้ป่วยแต่ละราย โดยจักษุแพทย์และผู้ป่วยจะร่วมกันพิจารณาข้อดี-ข้อเสียของเลนส์แต่ละประเภท

การปฏิบัติตัวหลังผ่าตัดต้อกระจก

1. หลังผ่าตัดผู้ป่วยจะได้รับการปิดตาข้างที่ผ่าตัด ซึ่งในวันรุ่งขึ้นท่านจะได้รับการเปิดตา วัดสายตาและพบจักษุแพทย์พร้อมรับคำแนะนำในการปฏิบัติตัว การสอนเช็ดตาและหยอดตาร่วมกับการชมวิดีโอการปฏิบัติตัวหลังผ่าตัดต้อกระจก

2. หากมียาที่จักษุแพทย์แนะนำให้งดก่อนผ่าตัด จักษุแพทย์จะแจ้งให้ท่านทราบว่าจะเริ่มรับประทานได้เมื่อใด

3. หลังการผ่าตัดแพทย์จะนัดตรวจที่ 1 สัปดาห์ 1 เดือน และ 3 เดือน หากมีอาการผิดปกติ เช่น ปวดตา ตามัวลง เปลือกตาบวมแดง มีขี้ตา ให้ท่านมาพบจักษุแพทย์โดยไม่ต้องรอถึงวันนัด

4. เช็ดทำความสะอาดบริเวณรอบตาข้างที่ผ่าตัด อย่างน้อยวันละ 1 ครั้ง นาน 2 – 4 สัปดาห์ ตามคำแนะนำของจักษุแพทย์

5. ใช้ยาตามที่แพทย์สั่ง ไม่นำยาหยอดที่ใช้ก่อนผ่าตัดมาหยอดตาหลังผ่าตัด

6. ภายใน 1 เดือนหลังผ่าตัด

  • ระวังไม่ให้น้ำเข้าตา ควรใช้วิธีเช็ดหน้าแทนการล้างหน้า และสระผมที่ร้าน หรือให้ผู้อื่นสระให้โดยสวมที่ครอบตาไว้
  • ระวังไม่ให้ฝุ่น ลม หรือควันเข้าตา และไม่ควรขยี้ตา
  • ควรระวังไม่ให้ตาข้างที่ผ่าตัดถูกกระทบกระเทือน
  • ควรสวมที่ครอบตาก่อนนอนเพื่อป้องกันการเผลอขยี้ตา
  • หลีกเลี่ยงการยกของหนัก หลีกเลี่ยงการออกกำลังกายที่ต้องออกแรงมากๆ

7. สามารถใช้สายตาได้ตามปกติ แต่หากมีอาการเมื่อยล้า หรือแสบตาควรหยุดพัก

นพ. เอกชัย วรอมรโชติ

นพ. ปริญญา ฤกษ์สมถวิล

ติดต่อสอบถาม นัดหมายพบแพทย์

โทร : 02-457-9740 ต่อ 4000

แพ็กเกจผ่าตัดตาต้อกระจก ราคาพิเศษ 25,900 บาท (คลิก!!)

(ไม่ต้องนอนโรงพยาบาล) วันนี้ถึง 31 ธันวาคม 2567