โรคไส้เลื่อน
ไส้เลื่อน เป็นโรคที่ถูกพูดถึงกันอยู่เสมอ โดยเฉพาะกลุ่มชายเริ่มเป็นหนุ่มทั้งหลาย ด้วยความวิตกกังวลจากความไม่รู้จริง เพราะฟังผู้อื่นเล่าต่อๆกันมา ว่า ถ้าใครเป็นไส้เลื่อนแล้ว จะหมดสมรรถภาพทางเพศบ้าง จะกลายเป็นมะเร็งบ้าง จะต้องถูกออกจากงาน เพราะทำงานหนักไม่ไหว เป็นต้น ซึ่งโดยแท้จริงแล้ว ไส้เลื่อนลงอัณฑะ ไม่ได้เป็นโรคน่ากลัวตามที่ว่าเลย
ดังนั้นอย่างไรจึงเรียกว่าเป็นโรคไส้เลื่อน เกิดจากสาเหตุใด มีอาการและผลแทรกซ้อนใด อันตรายอย่างที่ว่าไหม และถ้าใครเป็นไส้เลื่อนแล้ว จะรักษาได้หรือไม่ โดยวิธีใดบ้าง ถ้าปล่อยให้ไส้เลื่อนออกมาอยู่นานๆอาจเกิดผลแทรกซ้อนได้ตั้งแต่ปวดรุนแรงหรือมีอาการลำไส้อุดตัน ลำไส้เน่าตายทะลุ เยื่อบุช่องท้องอักเสบ จนถึงติดเชื้อในกระแสโลหิตได้
ปัจจัยเสริมที่ทำให้อวัยวะเคลื่อนออกจากตำแหน่งเดิมผ่านผนังหน้าท้องที่อ่อนแอหรือมีรูเปิดผิดปกติ เกิดแรงดันภายในช่องท้องที่เพิ่มขึ้น มีเหตุใดก็ตามที่ทำให้มีการเพิ่มแรงดันในถุงท้องเป็นระยะเวลานานพอ จนลำไส้บางส่วนถูกดันเลื่อนผ่านจุดอ่อนของถุงท้องออกมา ซึ่งอาจเกิดจากสาเหตุต่างๆ ได้แก่
- ไอเรื้อรัง เช่น การไอของผู้ป่วยโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง โรคถุงลมโป่งพอง
- โรคอ้วน และภาวะน้ำหนักเกิน
- การยกของหนักเป็นประจำ
- การเบ่งอุจจาระเป็นประจำเนื่องจากท้องผูก
- ต่อมลูกหมากโตทำให้ต้องเบ่งเมื่อปัสสาวะ
- การตั้งครรภ์
- มีของเหลวในช่องท้อง เช่น เกิดจากการที่ตับมีปัญหา
อาการของโรคไส้เลื่อน
อาการหลักของโรคไส้เลื่อนคือคลำพบก้อนนูนในบริเวณที่เกิดโรค เช่น ในกรณีของผู้ป่วยไส้เลื่อนบริเวณขาหนีบจะมีก้อนนูนด้านใดด้านหนึ่งของกระดูกเชิงกรานหรือขาหนีบ และถ้านอนลงจะสามารถดันให้กลับเข้าไปในช่องท้องได้ ผู้ป่วยบางรายอาจรู้สึกปวดบริเวณก้อนเวลาก้มตัว ยกสิ่งของ ไอจาม หรือมีอาการอัณฑะบวมและปวด
ส่วนไส้เลื่อนกระบังลม (hiatal hernia) ผู้ป่วยอาจมีอาการของโรคกรดไหลย้อน ปวดบริเวณหน้าอก กลืนลำบาก โรคไส้เลื่อนบางชนิดอาจไม่มีก้อนนูนให้เห็นเลย แต่ผู้ป่วยอาจมีอาการปวดท้องโดยหาสาเหตุไม่ได้ ปวดเฉพาะเวลาไอจาม หรือยกสิ่งของ มีอาการท้องผูก มีเลือดปนในอุจจาระ ซึ่งเป็นความผิดปกติที่ควรมาพบแพทย์เพื่อหาสาเหตุที่แท้จริง สำหรับอาการที่ต้องมาพบแพทย์ทันที ได้แก่
- ปวดบริเวณที่เป็นไส้เลื่อน
- ปวดท้อง ท้องอืด ไม่อุจจาระ ไม่ผายลม
- ไม่สามารถดันก้อนนูนกลับเข้าไปในช่องท้องได้
- คลื่นไส้ อาเจียน
เนื่องจากอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรง เช่น ไส้เลื่อนติดคาไม่สามารถดันกลับเข้าไปในช่องท้องได้ ภาวะลำไส้ขาดเลือดและเน่าตาย ภาวะลำไส้อุดตัน ซึ่งเป็นภาวะที่อาหารหรืออุจจาระไม่สามารถเคลื่อนผ่านลำไส้ไปได้ ภาวะแทรกซ้อนเหล่านี้จำเป็นที่ผู้ป่วยจะต้องได้รับการผ่าตัดรักษาฉุกเฉิน
วิธีการป้องกันโรคไส้เลื่อน
ไส้เลื่อนที่ไม่ใช่ความผิดปกติแต่กำเนิด อาจสามารถป้องกันได้ดังนี้
- หากมีอาการไอเรื้อรัง ต้องรักษาให้หายขาด
- ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม
- รับประทานอาหารที่มีกากใย เช่น ผัก ผลไม้ และธัญพืชที่ไม่ผ่านการขัดสีเพื่อป้องกันท้องผูกและการเบ่งถ่ายอุจจาระหรือปัสสาวะ
- หลีกเลี่ยง หรือระมัดระวังเมื่อต้องยกสิ่งของที่มีน้ำหนักมาก หากต้องยกให้ย่อเข่าแล้วยกขึ้น ไม่ก้มตัวยก
การรักษาโรคไส้เลื่อน
วิธีหลักในการรักษาโรคไส้เลื่อนคือ การผ่าตัด โดยความเร่งด่วนในการรักษาขึ้นอยู่กับขนาดของก้อนนูนและอาการของผู้ป่วยว่ามีความรุนแรงมากน้อยเพียงใด ในรายที่ก้อนมีขนาดเล็กและผู้ป่วยไม่มีอาการ แพทย์อาจแนะนำให้เฝ้าระวังภาวะแทรกซ้อนโดยยังไม่จำเป็นต้องรีบผ่าตัด หรือในกรณีของไส้เลื่อนกระบังลม (hiatal hernia) ที่มีขนาดไม่ใหญ่ และมีอาการกรดไหลย้อน การรักษาอาจเป็นการใช้ยาประคับประคองตามอาการ เช่น ยาลดกรดในกระเพาะอาหาร เป็นต้น
ในกรณีที่ไส้เลื่อนมีขนาดใหญ่ขึ้น เริ่มมีอาการจากไส้เลื่อน หรือ กรณีที่ยาลดกรดไม่สามารถควบคุมอาการกรดไหลย้อนได้ในไส้เลื่อนกระบังลม (hiatal hernia) แพทย์จะแนะนำให้รักษาโดยการผ่าตัด เพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อนรุนแรงที่อาจตามมา โดยการผ่าตัดสามารถทำได้ 2 วิธี คือ
- การผ่าตัดแบบเปิดหน้าท้อง (open surgery) แพทย์จะทำการผ่าบริเวณที่มีก้อนนูนเพื่อดันส่วนที่เคลื่อนออกมาให้กลับเข้าไปยังตำแหน่งเดิม การผ่าตัดด้วยวิธีนี้ผู้ป่วยอาจมีอาการเจ็บแผลมากกว่า และอาจต้องใช้เวลาพักฟื้นนานกว่าการผ่าตัดผ่านกล้อง
- การผ่าตัดแบบแผลเล็กด้วยวิธีการผ่าตัดผ่านกล้อง (laparoscopic surgery) โดยจะทำผ่านรูเล็กๆ ที่เจาะเข้าทางหน้าท้อง และทำการซ่อมแซมไส้เลื่อน ซึ่งการผ่าตัดด้วยวิธีนี้ให้ผลดีกับผู้ป่วยหลายประการ เช่น รอยแผลเป็นจากการผ่าตัดมีขนาดเล็กมาก ผู้ป่วยเจ็บแผลน้อยลง ใช้เวลาพักฟื้นในโรงพยาบาลน้อยลง และฟื้นตัวเร็ว ลดโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนภายหลังการผ่าตัด เช่น ลดการติดเชื้อของแผลผ่าตัด ลดการกระทบกระเทือนต่อวัยวะหรือเนื้อเยื่อรอบๆ
แผนกศัลยกรรม โทร 02-457-0086 ต่อ 4020 , 4000